วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กระจกส่องใจ

ในสมัยพุทธกาล มีเรื่องเล่าว่า :- วันหนึ่ง พระราหุลนั่งอยู่ในสวนมะม่วงในกรุงราชคฤห์ พระพุทธองค์เสด็จไป ณ.ที่นั้น
เมื่อประทับนั่งบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว ได้ตรัสถามพระราหุลว่า
“ราหุล กระจกเงามีประโยชน์อย่างไร”
“มีประโยชน์สำหรับส่อง พระเจ้าข้า” พระราหุลตอบ
พระพุทธองค์จึงทรงประทานโอวาทแก่พระราหุลว่า
“ดูก่อนราหุล นี่แลฉันใด ปัญญาก็มีประโยชน์สำหรับส่องฉันนั้น
ก่อนที่เธอจะทำการงานสิ่งใดพึงพิจารณาดูให้ดีก่อน ถ้ารู้ว่าการงานเป็นไปเพื่อการเบียดเบียน ตนเองก็ดี เบียดเบียนผู้อื่นก็ดี หรือทั้งตนเองทั้งผู้อื่นก็ดี การงานนั้นเธอไม่ควรทำ แม้ในขณะที่ทำอยู่ก็พึงพิจารณาอย่างนั้นอีก ถ้ารู้ว่าเป็นโทษดังกล่าวแล้วพึงงดเสีย
ถ้ารู้ว่าไม่มีโทษเธอจงหมั่นทำเถิด หรือการงานที่พิจารณาเสร็จไปแล้ว ก็พึงพิจารณาอย่างนั้นอีก ถ้ารู้ว่ามีโทษก็พึงสารภาพผิดแล้วสำรวมระวังต่อไป ถ้ารู้ว่าไม่มีโทษก็พึงยินดีปราโมทย์กับงานที่บริสุทธิ์นั้นทุกคืนวันเถิด”
พระพุทธโอวาทที่ตรัสกับพระราหุลนี้ ถ้าเราทุกคนจะน้อมมาพิจารณาตรวจสอบดู กับการงานของเราซึ่งทำเป็นประจำ ก็จะเป็นเสมือนกระจกเงาสำหรับส่องจิตใจ เพื่อป้องกันมิให้ทำงานผืดพลาด หรือแม้ผิดพลาดไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสกลับตัวได้โดยง่าย เพราะมีสติรู้ตัวอยู่ จึงควรน้อมพระพุทธโอวาทนี้มาสู่ตัวเราโดยทั่วกันเทอญ

นิทานไม่รู้จบ

ครั้งหนึ่งมีเศรษฐีผู้หนึ่งชอบฟังนิทานเป็นชีวิตจิตใจ และเนื่องจากมีลูกสาวงดงามเป็นที่หมายปองของบรรดาหนุ่มๆ จึงเป็นเหตุให้ บรรดาหนุ่มพากันมาเอาใจเศรษฐี ด้วยการเล่านิทานคนละหลายร้อยเรื่องไม่ซ้ำกัน เรื่องแล้วเรื่องเล่าจนหมดไส้หมดพุง เพื่อหวังใน ตำแหน่งลูกเขยเศรษฐี แต่เศรษฐีก็ยังไม่พอใจ และอยากฟังนิทานจากคนอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ ส่วนบรรดาหนุ่มก็เข็ดขยาดไปตามๆ กัน ไม่มีใครมาเล่านิทานให้ฟัง เศรษฐีจึงหงุดหงิดไม่สบอารมณ์ดังนั้นเศรษฐีจึงคิดอุบายขึ้น และประกาศออกไปว่าหากใครสามารถเล่านิทานไม่รู้จบจะยกลูกสาวให้เป็นรางวัล บรรดาหนุ่มๆ ต่างเริ่ม มีความหวังจึงพากันย้อนมาหาเศรษฐี โดยนำนิทานที่เสาะแสวงหามาจากแดนไกลมาเล่าให้เศรษฐีฟัง นิทานสั้นบ้างยาวบ้าง แต่ไม่ว่าจะยาว อย่างไรนิทานก็ต้องจบลงในวันใดวันหนึ่ง จึงไม่มีหนุ่มคนใดได้แต่งงานกับลูกสาวเศรษฐีสักคน วันหนึ่งหนุ่มพเนจรเดินทางผ่านมาได้ยิน เรื่องเกี่ยวกับนิทานไม่รู้จบ จึงอาสาไปเล่านิทานให้เศรษฐีฟัง"กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มียายกับตาคู่หนึ่งปลูกข้าวไว้หลายสิบไร่ ครั้นเก็บเกี่ยวเสร็จก็นำไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง แต่ก็ไม่พ้นสายตา นกสองผัวเมียคู่หนึ่ง ซึ่งแอบบินเข้าไปตามช่องโหว่เพื่อขโมยกินข้าวเปลือกของยายกับตาทุกวัน เมื่อตัวหนึ่งบินเข้าไปกินข้าวเปลือก อีกตัวหนึ่งก็จะคอยเป็นยามเฝ้าผลัดกันอยู่เช่นนี้ เป็นเวลาหลายวันหลายเดือนข้าวเปลือกก็ยังไม่หมดยุ้งฉาง ดังนั้นเมื่อนกตัวผู้บินออก ตัวเมียก็บินเข้า ครั้งพอตัวผู้บินเข้า ตัวเมียก็บินออก เมื่อตัวผู้บินออก ตัวเมียก็บินเข้า ครั้งพอตัวผู้บินเข้า ตัวเมียก็บินออก" ชายพเนจรเล่าวนไปวนมาอย่างนี้หนึ่งวันเต็มๆ จนเศรษฐีโมโหรำคาญ จึงเอ่ยถามอย่างไม่พอใจว่า"มันบินเข้าบินออกกันอย่างนี้ทั้งวันทั้งคืน เมื่อไหร่นิทานของเอ็งจะเดินหน้าต่อไปล่ะวะ""ใจเย็นๆ ซิครับ" ชายหนุ่มตอบอย่างกระหยิ่มยิ้มย่อง "ก็ข้าวมันเต็มยุ้งฉางกว่านกจะคาบเอาไปกินหมด มันก็ต้องบินเข้าบินออกนับครั้งไม่ถ้วนซิครับ"เศรษฐีรู้ว่าเป็นกลอุบายของชายหนุ่มที่แกล้งให้ตนฟังนิทานอย่างไม่รู้จบ จึงแกล้งไม่รู้ไม่ชี้ "เอ็งเล่าได้ข้าก็ฟังได้ มีปัญญาเล่าก็เล่าไป คนฟังสบายกว่าคนเล่าไม่เมื่อยปาก แม้จะหนวกหูรำคาญใจก็ตาม"ฝ่ายลูกสาวเศรษฐีเห็นความมานะอดทนและความเฉลียวฉลาดของชายหนุ่ม จึงยกขันน้ำมาให้ดื่มแก้คอแห้ง ชายหนุ่มครั้งได้พบลูกสาวเศรษฐีก็ประทับใจในความงาม และความมีน้ำใจ จึงมีแรงใจเล่านิทานไม่รู้จบอย่างไม่ย่อท้อ ชายหนุ่มเล่านิทานจนย่างเข้าสู่วันที่สาม เศรษฐีก็เอียนขยาดที่จะฟังแต่ก็ไม่กล้ายอมแพ้เพราะกลัวจะเสียลูกสาว จนกระทั้งเจ็ดวันเจ็ดคืนผ่านไป เศรษฐีก็แทบคลั่งพอๆ กับเจ้าหนุ่มที่คอแหบแห้ง ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมแพ้ ผ่านไปจนครบ 15 วัน ชายหนุ่มก็ไม่มีเสียงจะเล่า ต้องเข้าไปกระซิบที่ข้างหูเศรษฐี"เมื่อตัวผู้บินออก ตัวเมียก็บินเข้า ครั้งพอตัวผู้บินเข้า ตัวเมียก็บินออก เมื่อตัวผู้บินออก ตัวเมียก็บินเข้า ครั้งพอตัวผู้บินเข้า ตัวเมียก็บินออก""พอแล้วโว้ย… กูจะบ้าตายอยู่แล้ว""แต่นิทานยังไม่จบนะครับ มาผมจะเล่าต่อ""กูบอกว่าไม่ต้อง เรื่องนี้กูไม่อยากฟังแล้ว" เศรษฐีตะโกนโหวกเหวกอย่างโมโหหงุดหงิดเต็มประดา"เป็นอันว่าผมเป็นฝ่ายชนะ เพราะผมเล่ายังไม่ถึงครึ่งเรื่องท่านเศรษฐีก็เบื่อก่อนแล้ว ความจริงผมมีนิทานขนาดพอดีๆ ที่สนุกสนานอยู่อีกนับไม่ถ้วน เมื่อแต่งงานกับลูกสาวท่านแล้วผมจะเล่าให้ฟังทุกวัน"เศรษฐีได้ฟังว่าที่ลูกเขยบอกว่ายังมีนิทานสนุกๆ อีกมากมายก็ค่อยคายโมโห ส่วนชายหนุ่มก็ได้แต่งงานกับลูกสาวเศรษฐีอย่างมีความสุข

กลอนในการดำเนินชีวิต

คติธรรมสอนใจ
1.คำกลอนสอนจิต คติธรรมคำกลอนไว้สอนจิต เพื่อให้คิดเตือนใจใฝ่กุศล แต่ญาติโยมหญิงชายได้ทุกคน หมั่นฝึกตนให้พูดคิดและทำดี เราจะได้เป็นคนไม่ประมาท จะไม่ขาดปัญญาหาเหตุผล เพื่อนทุกคนโปรดจำไว้ใส่ใจเอยฯ
2. แก่-เจ็บ-ตาย อันความแก่แน่นอนไม่ผ่อนผัน คิดและวันนั้นรึงดึงสังขาร ฟันที่มั่นพลันคลอนหนังหย่อนยาน ชรากาลผลาญพร้าให้อาลัย ทั้งดวงตาฝ้าไปมองไม่เห็น หูก็เป็นเช่นกันกายสั่นไหว ผมกลับหงอกชอกช้ำระกำใจ มองตรงไหนก็ไม่งามรูปทรามเอย คราเจ็บไข้ไม่สบายวุ่นวายเหลือ ช่างน่าเบื่อเนื้อหนังโอ้สังขาร เป็นทุกข์ยิ่งจริงน่าทรมาน กว่าวายปราณผ่านพ้นจำทนไป ไม่เจ็บกายใจหมดทุกข์จึงสุขสม พระโคดมข่มจิตน่าพิสมัย ไม่ยึดมั่นพลันถอนลูกศรใจ จิตแจ่มใสไร้ทุกข์สมสุขเอย.
3. อยู่ที่ใจ สุขทุกข์อยู่ที่ใจมิใช่หรือ ถ้าใจถือก็เป็นทุกข์ไม่สุกใส ถ้าไม่ถือก็เป็นสุขไม่ทุกข์ใจ เราอยากได้ความสุขหรือทุกข์นา
4. ฝึกจิต จิตตัง ทันตัง สุขาวหัง จิตที่ฝึกฝนดีแล้ว นำความสุขมาให้ จิตเป็นนายกายเป็นบ่าวของเหล่าสัตว์ สารพัดการงานทุกฐานที่ ถ้าจิตชั่วก็หมายกายวจี ถ้าจิตดีกายวาจาก็ตามมา เวลาใดทำใจให้ผ่องแผ้ว เหมือนได้แก้วมีค่าเป็นราศี เวลาทำใจให้ไร้ราคี เหมือนมณีแตกหมดลดราคา สมัยใดทำให้ให้ผุดผ่อง ไม่หม่นหมองด้วยราคินสิ้นทั้งหลาย จะพบสุขสดใสใจสบาย เพื่อนหญิงชายทำเถิดประเสริฐเอย

คติธรรมสอนใจ

เมื่อคุณปลูกความซื่อสัตย์
คุณก็จะได้รับความไว้วางใจเมื่อคุณปลูกควาดี
คุณก็จะได้รับมิตรภาพเมื่อคุณปลูกความอ่อนน้อมถ่อมตน
คุณก็จะได้รับความยิ่งใหญ่เมื่อคุณปลูกความพากเพียร
คุณก็จะได้รับความสำเร็จเมื่อคุณปลูกความพิจารณา
คุณก็จะได้รับความละเอียดละออเมื่อคุณปลูกความทำงานหนัก
คุณก็จะได้รับความสำเร็จเมื่อคุณปลูกการให้อภัย
คุณก็จะได้รับการคืนดี
ดังนั้น ตรองดูซักนิดว่า คุณจะปลูกอะไร คุณก็สามารถกำหนดสิ่งที่คุณจะได้รับได้

นิทานสอนใจสำหรับคนอกหัก

ปรัชญาพุทธกับคนรัก (ที่ไม่รักเรา)
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหญิงสาวคนหนึ่งผิดหวังในรักเนื่องจากคนรักของตนได้มาทิ้งไปจึงกำลังจะฆ่าตัวตายขณะนั้นเองมีพระธุดงส์รูปหนึ่งผ่านมาพบเข้าจึงได้กล่าวให้สติกับสีกา ว่า "โยมจะทำอะไรรึ"หญิงสาวตอบ "อิชั้นจะฆ่าตัวตายเพราะไม่รู้จะอยู่ไปทำไม มีแฟนๆ ก็มาทิ้งไปเจ้าค่ะ"พระธุดงส์จึงได้เทศนาให้หญิงสาวฟังว่า "เหตุใดโยมจึงต้องเสียใจเล่าในเมื่อคนที่ควรจะเสียใจควรจะเป็นแฟนของโยมสิ"หญิงสาวหยุดคิดและถามกลับไปด้วยความสงสัยว่า "ทำไมล่ะเจ้าคะ"พระธุดงส์ตอบว่า "ในเมื่อโยมมิได้สูญเสียสิ่งที่สำคัญไปเลยน่ะสิ"หญิงสาวตั้งใจฟังพระธุดงส์แล้วก็ตอบกลับไปว่า "ไม่จริงหรอกค่ะดิชั้นสูญเสียแฟนอันเป็นที่รักยิ่งไปนะเจ้าค่ะ"พระธุดงส์ตอบ "โยมได้สูญเสียคนที่มิได้รักและห่วงใยโยมซึ่งจะมีค่าอันใดแต่แฟนโยมซิที่สูญเสียคนที่รักและห่วงใยเค้าเช่นโยม ใครควรจะเสียใจกว่ากันล่ะโยม"ที่มา ธรรมจักร

ลูกสอนพ่อ

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถีปรารภพ่อค้าผู้เศร้าโศกเสียใจกับการตายของบิดาอย่างไม่สร่างซาคนหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพ่อค้าเมืองพาราณสี มีชื่อว่า สุชาตกุมาร เมื่อเติบโตเป็นหนุ่ม ปู่ของเขาก็ได้เสียชีวิตลง หลังจากปู่เสียชีวิตแล้ว บิดาของเขาอยู่ในอาการเศร้าโศกตลอดมา ไม่มีจิตใจทำการค้าขายเลย เมื่อเผาร่างปู่เสร็จแล้วก็นำกระดูกมาบลรรจุสถูปดินไว้ในสวนหลังบ้าน เที่ยวไปไหว้กระดูกนั้นแล้วเดินวนเวียนนั่งร้องไห้อยู่ ไม่อาบน้ำ ไม่กินข้าวไม่ทำการค้าขาย เป็นประจำทุกวันสุชาตกุมารเห็นบิดาตกอยู่ในอาการเช่นนั้นจึงคิดหาวิธีเตือนสติ วันหนึ่งเขาเดินไปนอกบ้านเห็นวัวตายตัวหนึ่ง จึงนำหญ้าและน้ำมาวางไว้ข้างหน้ามัน แล้วพูดว่า "จงกิน จงดื่ม" ผู้คนที่เดินผ่านไปมาเห็นเขาก็ถามว่า "ท่านทำอะไร เป็นบ้าเหรอ ป้อนอาหารให้วัวตาย" สุชาตกุมารก็ไม่พูดตอบโต้อะไรยังคงนั่งพูดอยู่อย่างนั้นชาวบ้านจึงเดินไปบ้านบอกบิดาของเขาให้ทราบว่า สุชาตกถมารเป็นบ้าแล้ว นั่งป้อนอาหารวัวที่ตายแล้ว บิดาของเขาพอทราบเรื่องก็รีบไปดูด้วยความเป็นห่วงลูกชาย ลืมการตายของบิดาไปชั่วขณะ เมื่อไปถึงที่ลูกชายนั่งอยู่จึงถามว่า "ลูก เป็นคนฉลาดมิใช่หรือ ทำไมจึงป้อนหญ้าป้อนน้ำให้วัวตายเล่า ไม่มีวันที่มันจะฟื้นคืนมาได้ดอก อย่ามานั่งบ่นเพ้อเหมือนคนไร้ความคิดเลย"สุชาตกุมารจึงตอบว่า "พ่อ.. วัวตัวนี้ร่างกายมันอยู่ครบบริบูรณ์ดี ผมเข้าใจว่า มันต้องลุกขึ้นมากินได้ ส่วนปู่ของเราไม่มีร่างกาย แล้วพ่อยังไปนั่งร้องไห้คร่ำครวญหาอยู่ท้ายสวนเป็นประจำ พ่อมิใช่เป็นคนไร้ความคิดกว่าเหรอบิดาจึงได้สติคืนมา กล่าวยกย่องชมเชยสุชาตกุมารแล้วกล่าเป็นคาถาว่า"คนผู้มีปัญญา มีใจอนุเคราะห์ ย่อมทำบุคคลให้หลุดพ้นจากความเศร้าโศกได้ เหมือนกับสุชาตบุตรของเราทำเราผู้บิดาให้หลุดพ้นความโศก ฉะนั้น
"นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : การเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมชาติของชาวโลก ทุกคนต้องประสบแน่นอน อย่างไปอาลัยอาวรณ์อยู่กับผู้ที่เสียชีวิตให้เสียเวลาไปเลย ต่างรับเร่กระทำความดีกันเถิด สาธุชนเอ๋ย

วัยรุ่นวุ่นรัก

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ทรงปรารภลูกสาวเศรษฐีชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่งที่หอบผ้าหนีตามชายค่อมไป ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นเศรษฐี มีลูกสาวกำลังเป็นวัยรุ่นอยู่คนหนึ่ง นางเห็นเครื่องสักการะที่เขาจัดทำให้โคอุสภราช(หัวหน้าโค)ในบ้านของตนแล้วถามพี่เลี้ยงว่า"พี่..โคตัวนี้เป็นอะไร เขาถึงประดับถึงเพียงนี้ "พี่เลี้ยงตอบว่า " นายหญิง..เขาเรียกโคอุสภราชจ้า"นางคิดว่า "โคที่ได้รับยกย่องว่าเป็นใหญ่ จะมีโหนกที่หลัง ถ้าเช่นนั้นชายผู้เป็นใหญ่ ก็คงจะมีโหนกขึ้นกลางหลังเช่นกัน"วันหนึ่งเมื่อเห็นชายหลังค่อมคนหนึ่งระหว่างทางจึงเข้าใจว่า "ชายคนนี้เป็นบุรุษอุสภราช เราควรจะเป็นภรรยาของเขา" จึงใช้พี่เลี้ยงไปบอกเขาให้ไปรออยู่ปากทางลูกสาวเศรษฐีจะไปด้วย นางได้ห่อสิ่งของมีค่าหนีตามชายค่อมนั้นไปเศรษฐีพอทราบว่าลูกสาวหนีตามชายค่อมไป ก็ออกติดตามเพื่อนำกลับมาบ้าน ฝ่ายลูกสาวเศรษฐีกับชายค่อมเดินทางกันทั้งคืนไม่ได้พักผ่อน ชายค่อมถูกความหนาวเหน็บตลอดคืนรุ่งแจ้งโรคเก่าได้กำเริบขึ้น เดินต่อไปไม่ได้ จึงแวะลงข้างทางนอนขดตัวอยู่ เศรษฐีและคณะตามมาทันเห็นลูกสาวนั่งอยู่ข้างๆชายค่อมนั้น จึงเข้าไปสนทนาด้วยและพูดว่า" ลูกรัก เรื่องนี้เจ้าคิดคนเดียวไม่ได้นะ ชายค่อมผู้โง่เขลานี้จะนำทางเป็นที่พึ่งของเจ้าไม่ได้แน่ ลูกรัก เจ้าไม่สมควรจะไปกับชายค่อมผู้นี้ดอกนะ"ลูกสาวตอบเป็นคาถาว่า" ลูกเข้าใจว่าชายค่อมเป็นคนองอาจ จึงได้รักใคร่เขาเขานอนตัวคดอยู่อย่างนี้ ดุจคันพิณที่สายขาด "เศรษฐีได้นำลูกสาวกลับคืนบ้านของตน และให้แต่งงานกับลูกชายเศรษฐีชาวเมืองในเวลาต่อมานิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าวัยรุ่นปัจจุบันมักจะทำตามใจตนเอง ควรถือนิทานเรื่องนี้เป็นตัวอย่างลูกที่ดีควรยึดถือคำพูดของพ่อแม่เป็นเกณฑ์

คติธรรมสอนใจ **สอนลูกให้เป็นโจร**

ครั้งหนึ่งยังมีหญิงหม้ายกับลูกสามคนปลูกบ้านอยู่ริมหนองน้ำใกล้ต้นไทรใหญ่ลูกชายคนโตชื่อ สิน ลูกชายคนรองชื่อ สอน ส่วนคนน้อง เป็นหญิงชื่อ สารภี สามีของนางได้ทิ้งมรดกไว้ให้มากพอสมควร แต่เนื่องจากนางชอบเล่นการพนัน ฐานะครอบครัวจึงเริ่มฝืดเคืองและ ยากจนลง อีกทั้งมัวแต่ไปขลุกอยู่แต่ในบ่อนจึงไม่มีเวลาอบรมลูกอยู่มาวันหนึ่งลูกของหญิงหม้ายได้ไปเที่ยวเล่นกันนอกบ้าน และขโมยมะม่วงชาวบ้านกิน อีกทั้งยังขนกลับมาไว้ที่บ้าน หญิงหม้ายเสีย การพนันกลับมาเห็นมะม่วงก็ดีใจ กล่าวชมลูกที่รู้จักหากิน ไม่อดอยาก ลูกๆจึงได้ใจเที่ยวลักของชาวบ้านเรื่อยมา หญิงหม้ายพบเห็นก็ ไม่ดุว่าเพราะเห็นเป็นของเล็กน้อย แม้มีชาวบ้านมาฟ้องก็กลับช่วยลูกแก้ตัวไปทุกครั้งเมื่อโตขึ้นลูกของหญิงหม้ายก็ยิ่งเหิมเกริมลักขโมยข้าวของมีค่าของชาวบ้านไปขายนำเงินมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย ครั้นถูกตำรวจจับหญิงหม้ายก็ไปประกันตัว เมื่อลูกกลับบ้านแทนที่จะตักเตือนแต่กลับบอกลูกให้รู้จักทำอะไรให้รอบคอบ เด็กทั้งสามจึงคิดหาทางหนีที่ไล่และ รอดจากการถูกจับได้โดยไม่ทิ้งหลักฐานไว้เลย ในที่สุดวันหนึ่งก็คิดปล้นบ้านเศรษฐีเพื่อจะได้เงินทองมากกว่าไปลักเล็กขโมยน้อยพี่ชายทั้งสองวางแผนให้สารภีปลอมตัวเป็นคนรับใช้เข้าไปทำงานในบ้านเศรษฐี จนเมื่อรู้ที่ซ่อนของทรัพย์สิน ทั้งสามก็นัดวันลงมือที่จะปล้น โดยสารภีแอบลงมาเปิดประตูรับพี่ทั้งสอง ขณะกำลังกวาดทรัพย์สินอยู่ พวกคนงานในไร่ของเศรษฐีมาเห็นเข้า โจรทั้งสามจึงรีบ นำทรัพย์สินหลบหนีไป ต่อมาเจ้าหน้าที่ตามจับ สอนและสารภีต้องอาวุธถึงแก่ความตาย ส่วนสินพี่ชายคนโตรับบาดเจ็บสาหัส หญิงหม้าย ทราบเรื่องก็มาดูเหตุการณ์ นางตรงเข้าไปกอดร่างของสินรำพึงด้วยความรัก บอกว่าลูกไม่น่าทำแบบนี้เลย ทำไมต้องเป็นโจรปล้นทรัพย์ของคนอื่น สินกัดฟันถามว่าแม่ร้องไห้ทำไม ก่อนหน้านี้ที่ลูกเริ่มทำแม่ไม่เคยห้ามปรามแต่กลับยุยงส่งเสริม ครั้นเมื่อลูกเป็นโจรและถูก เจ้าหน้าที่สังหาร แม่ก็ไม่ควรร้องไห้และสั่งสอนอะไรเวลานี้ เพราะมันสายเกินไปแล้ว